วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

วงศ์ปลาเนื้ออ่อน




  • 1.ก้างพระร่วง
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Krytopterus bicirrhis อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน Siluridae มีลักษณะลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก ตัวโปร่งใส จนสามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าเป็น " ปลาที่ตัวใสที่สุดในโลก " ก็ว่าได้ มีหนวดคู่ 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง โดยหนวดคู่บนจะยาวกว่าคู่ล่างมาก ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากจนแทบมองไม่เห็น ครีบทวารเป็นแนวยาวจรดโคนหาง หางมีลักษณะเว้าลึก อาศัยอยู่ตามแม่น้ำและลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรงในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ของ ประเทศ โดยปลาที่พบในแม่น้ำลำคลองตัวจะมีสีขุ่นกว่าที่พบในแหล่งน้ำบริเวณเชิงเขา เชื่อว่าสาเหตุเพราะปลาต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยง ศัตรู ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 10 ซ.ม. พบใหญ่ที่สุดราว 15 ซ.ม.

  • อุปนิสัย
อาศัย อยู่เป็นฝูงใหญ่จำนวน 100 ตัวขึ้นไป ชอบเกาะกลุ่มในแหล่งน้ำไหล โดยจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และหันหน้าสู้กระแสน้ำไปในทิศทางเดียวกันหมด เป็นปลาขี้ตื่นตกใจมาก เมื่อตกใจจะว่ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากนั้นก็จะกลับมาเกาะกลุ่มตามเดิม อาหารได้แก่ แมลงน้ำขนาดเล็กและแพลงก์ตอนสัตว์


ก้าง พระร่วง เป็นปลาเนื้ออ่อนที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าจะนำมาบริโภค และขึ้นชื่อมานาน โดยเป็นปลาส่งออกด้วย มีปรัมปราเล่ากันว่า พระร่วงได้ เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสัจว่าขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา จึงได้ชื่อว่า " ก้างพระร่วง " นับแต่นั้นมา นอกจากชื่อก้างพระร่วงแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า ผี, ก้าง, กระจก, เพียว เป็นต้น


นอกจากก้างพระร่วงชนิด Krytopterus bicirrhis แล้วยังมีก้างพระร่วงอีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Krytopterus macrocephalus โดยก้างพระร่วงชนิดนี้จะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า หนวดยาวกว่า อาศัยอยู่เฉพาะป่าพรุโต๊ะแดง ที่จังหวัดนราธิวาส เท่านั้น มีลำตัวที่ขุ่นทึบกว่า โดยมีอุปนิสัยและพฤติกรรมเหมือนกัน ปลาก้างพระร่วงชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า ก้างพระร่วงป่าพรุ หรือ เพียวขุ่น

++===========================++

  • 2.ปลาขาไก่
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kryptopterus cryptopterus อยู่ ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีรูปร่างเพรียว ลำตัวแบนข้าง ส่วนหัวสั้น ปากเล็ก ตาโตอยู่ต่ำกว่ามุมปาก ส่วนหลังไม่ยกสูง มีหนวดยาว 2 คู่ หนวดที่ริมฝีปากยาวถึงบริเวณขอบฝาปิดเหงือก หนวดใต้คางสั้น ครีบหลังเล็กมากเห็นเป็นเส้นสั้น ๆ ครีบอกใหญ่มีก้านแข็งที่ยาวเกือบเท่าความยาวของครีบ ครีบก้นยาว มีหางเว้าตื้น ตัวมีสีเหลืองอ่อนเหลือบเขียว ตัวค่อนข้างใส ครีบสีจาง ขอบครีบก้นมีสีคล้ำเช่นเดียวกับครีบหาง ครีบอกในตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีสีคล้ำ มีความยาวประมาณ 10 ซ.ม. พบใหญ่สุด 20 ซ.ม.


อาศัย อยู่เป็นฝูงใหญ่ มักย้ายถิ่นขึ้นมาในบริเวณน้ำหลากในฤดูฝน โดยกินอาหารได้แก่ แมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบในแม่น้ำของทุกภาค ยกเว้นแม่น้ำสาละวิน บริโภคโดยการปรุงสด หรือนำมาทำเป็นปลาแห้ง ปลารมควัน นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย แค่ค่อนข้างเลี้ยงยาก เนื่องจากเป็นปลาขี้ตกใจ ตายง่าย


ปลา ขาไก่ มีชื่อเรียกที่เรียกกันหลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่น " เพียว " ที่ภาคอีสาน " กะปิ๋ว " ที่ จ. ปราจีนบุรี " ปีกไก่ " หรือ " นาง " หรือ " ดอกบัว " ในแถบแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล หรือบางครั้งเรียก " หางไก่ " หรือ " ไส้ไก่ " เป็นต้น

++===========================++

  • 3.ปลาคางเบือน ,ปลาเบี้ยว
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Belodontichthys truncatus (เดิม Wallago dinema) มีลักษณะส่วนหัวแบนข้างมากเช่นเดียวกับลำตัว รูปร่างเพรียวยาว ด้านท้ายเล็กหัวและจะงอยปากงอนขึ้นด้านบน ปากกว้างมาก คางเชิดขึ้น จึงได้ชื่อว่า " คางเบือน "

มี ฟันแหลมคมบนขากรรไกร ตาโตอยู่ตอนกลางของหัว ใกล้มุมปากมีหนวด 1 คู่ยาวจนถึงครีบอก ครีบหลังเล็กมาก ครีบอกใหญ่ปลายแหลม ครีบท้องเล็ก ครีบหางเล็กเว้าตื้น ตัวมีสีเงินวาวหรือเหลือบสีเขียวอ่อน ด้านท้องสีจาง ครีบก้นและครีบหางมีขอบสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 35-40 ซ.ม. พบใหญ่สุดถึง 80 ซ.ม.


พบ ในแม่น้ำสายใหญ่ทั่วประเทศ ยกเว้นแม่น้ำสาละวินและภาคตะวันออก เนื้อมีรสชาติดีและราคาแพง สามารถปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอดกระเทียม ต้มยำ และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย


คางเบือนยังมีชื่อเรียกในภาษาอีสานอีกว่า " เบี้ยว ", " ขบ " , " ปากวิบ " หรือ " แก็ก "

++===========================++

  • 4.ปลาเค้าขาว
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wallago attu อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีส่วนหัวและจงอยปากปากยื่นแหลม ปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยด้านหลังของลูกตา มีฟันแหลมเล็กบนขากรรไกร ตาเล็ก มีหนวดที่ริมฝีปากยาวถึงครีบก้น หัวและลำตัวตอนหน้าแบนข้างเล็กน้อย แต่ตอนท้ายแบนข้างมาก ส่วนหลังป่องออก ครีบหลังอันเล็กมีปลายแหลม ครีบหางเว้า ตื้น ครีบก้นยาว ครีบอกใหญ่ ตัวมีสีเงินวาวอมเขียวอ่อนที่ด้านหลัง ในปลาบางตัวมีแถบยาวสีคล้ำที่ด้านข้างลำตัว ด้านท้องสีจาง บางตัวอาจมีครีบสีคล้ำอมเหลืองอ่อน มีขนาดโดยเฉลี่ย 70 - 80 ซ.ม. พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร มักหากินในเวลากลางคืน


อาหาร ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่า เวลาล่าเหยื่อจะว่องไวและดุดันมาก ในบางครั้งที่ล่าเหยื่อบนผิวน้ำกระแทกตัวกับน้ำจนเกิดเสียงดัง พบในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำสาละวินถึงแม่น้ำโขง พบน้อยในภาคใต้ บริโภคโดยปรุงสด รมควัน มีราคาค่อนข้างสูง และเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้


เค้าขาวมีชื่อเรียกในภาคอีสานว่า " เค้าคูน "
++===========================++

  • 5.ปลาชะโอน
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ompok krattensis (เดิม Ompok bimaculatus) อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีรูปร่างหัวสั้นและแบนข้างเล็กน้อย ลำตัวแบนข้าง ส่วนหลังยกสูงเล็กน้อย ปากเล็ก ตาโตอยู่เหนือมุมปาก หนวดที่ริมฝีปากยาวถึงบริเวณท้อง หนวดใต้คางสั้น ครีบหลังเล็ก ครีบอกใหญ่ ครีบหางเว้าตื้นมีปลายแฉกมน


ตัว มีสีตามสภาพน้ำ ปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำใส ตัวมักมีสีคล้ำและมีจุดประสีคล้ำ ที่เหนือครีบอกมีแต้มกลมสีคล้ำ ในบริเวณน้ำขุ่นมักมีตัวสีขุ่น ขาวซีด ครีบใส มีแต้มสีคล้ำบริเวณโคนหาง มีขนาดประมาณ 15 - 20 ซ.ม. พบใหญ่สุดถึง 40 ซ.ม.

อาศัย เป็นฝูงเล็ก ๆ ในแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำของทุกภาค ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง บริโภคโดยปรุงสด โดยเฉพาะทอดกรอบ มีรสชาติดีมาก ปลารมควัน และปลาเค็ม เคยเป็นสินค้ามีชื่อของทะเลสาบเขมรด้วย


อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลาที่เป็นสีเผือก (Albino)

ชะโอน มีชื่อเรียกต่างออกไปตามถิ่นต่าง ๆ เช่น " สยุมพร " " เนื้ออ่อน " ในภาษาอีสานเรียก " ปลาเซือม " หรือ "ปลาเซียม"และเรียกสั้น ๆ ในภาษาใต้ว่า " โอน " เป็นต้น

++===========================++

  • 6.ปลาชะโอนหิน
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Silurichthys schneideri อยู่ ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีลำตัวแบนข้างและเรียวยาว ตามีขนาดเล็กมาก หัวและปากเล็ก ปากล่างสั้นกว่า มีหนวด 2 คู่ ลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมม่วง ลำตัวและครีบมีลายประหรือลายหินอ่อน ครีบหลังอันเล็กมี 2 - 3 ก้าน ครีบหางและครีบก้นต่อเนื่องกัน ปลายครีบหางด้านบนยาวเรียว มีขนาดประมาณ 15 ซ.ม.


พฤติกรรม มักซ่อนตัวอยู่ใต้วัสดุลอยน้ำเช่น ใบไม้ร่วง หากินในเวลากลางคืน โดยอาหารได้กแก่ แมลง และสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบอาศัยอยู่ในลำธารน้ำตกในป่า เช่น น้ำตกลำนารายณ์ จ. จันทบุรี เป็นต้น
เลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ ชะโอนหินมีชื่อเรียกอื่นอีกเช่น " ลิ้นแมว " เป็นต้น

++===========================++

  • 7.ปลาดังแดง
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hemisilurus mekongensis อยู่ ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีส่วนหัวแบนข้างเล็กน้อย จงอยปากสั้นและงุ้มเล็กน้อย ปากเล็ก ขากรรไกรมีหนังนิ่ม ๆ หุ้ม มีหนวด 1 คู่ ตาเล็ก ครีบหลังเล็กมากเป็นเพียงเส้นสั้น ๆ ครีบท้องเล็ก ครีบหางเว้าลึกแฉกมนป้าน ตัวผู้มีหนวดเรียวสั้น ตัวเมียมีหนวดเส้นใหญ่ปลายแบนและยาวถึงบริเวณหลัง สีลำตัวมีสีเทาอ่อนอมฟ้า หนังบางค่อนข้างใส ครีบสีจางขอบครีบหางสีคล้ำ ส่วนหัวมีสีแดงเรื่อโดยเฉพาะบริเวณจงอยปาก จึงเป็นที่มาของชื่อ (ดัง แปลว่า จมูก) มีขนาดประมาณ 30-40 ซ.ม.

อาหาร ได้แก่ หอย ไส้เดือนน้ำ กุ้งขนาดเล็ก มีพฤติกรรมขณะว่ายน้ำจะยื่นหนวดและกระดิกถี่ ๆ เพื่อเป็นการสัมผัส พบเฉพาะแม่น้ำโขงเท่านั้น ถูกจับขึ้นมาขายครั้งละมาก ๆ ในบางฤดูกาลของจังหวัดริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงอุบลราชธานี เนื้อมีรสชาติดี มักบริโภคโดยการปรุงสด ดังแดง มีชื่อเรียกอีกชื่อนึงว่า " เจ๊ก "

++===========================++

  • 8.ปลาแดง
ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Micronema bleekeri อยุ่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีรูปร่างลักษณะคล้ายปลาน้ำเงิน ซึ่งอยุ่ในวงศ์เดียวกัน (Family) แต่ปากล่างยื่นน้อยกว่า ตาโต ปากกว้าง แต่ส่วนคางไม่เชิดขึ้น มีหนวดสั้น ๆ 2 คู่ที่มุมปากและใต้คาง ส่วนหลังไม่ยกสูง และครีบหางเว้าตื้น ฟันบนเพดานเป็นแผ่นรูปโค้ง ตัวค่อนข้างใสและมีสีเงินวาวอมแดงเรื่อ หรือมีสีเหลืองอ่อนเหลือบเขียวที่ด้านบนลำตัว ครีบก้นสีจาง ไม่มีแถบสีคล้ำ มีขนาดลำตัวประมาณ 30 ซ.ม. พบใหญ่สุด 60 ซ.ม.


บนปลาแดง ล่างปลาน้ำเงิน

มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับปลาน้ำเงิน (M. apogon) และอาศัยในแม่น้ำถิ่นเดียวกัน แต่พบในภาคใต้มากกว่า


มีชื่อเรียกในภาคอีสานแถบแม่น้ำโขงว่า " เซือม " " นาง " หรือ " นางแดง " เป็นต้น

++===========================++

  • 9.ปลาน้ำเงิน
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kryptopterus apogon (เดิม Micronema apogon) อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) มีรูปร่างคล้ายปลาเนื้ออ่อนชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังมีสีดำอมเขียว หัวแบนสั้นและตาเล็ก ปากค่อนข้างกว้าง มีฟันแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบหูใหญ่ปลายมน ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบก้นเป็นแผงยาว แต่ไม่มีครีบหลัง สันหลังบริเวณต้นคอสูงและลาดต่ำลงไปทางปลายหาง ครีบหางยาวเป็นแฉกเว้าลึก มีขนาดความยาวประมาณ 15 - 77 ซ.ม. พบใหญ่สุดถึง 1.5 เมตร

(บนปลาน้ำเงิน ล่างปลาแดง)

อาศัย ตามแม่น้ำสายใหญ่ของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง เป็นต้น โดยมักอยู่รวมกันเป็นฝูงในระดับกลางน้ำ อาหารได้แก่ ปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก และแมลงต่าง ๆ และจะชอบอาหารกลิ่นแรง เช่น แมลงสาบ เป็นที่รู้จักกันดีของนักตกปลาที่ใช้เป็นเหยื่อ


เป็น ปลาที่มีรสชาติอร่อยมาก สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ทอดพริก ทอดกระเทียม เป็นต้น ของจังหวัดตามริมแม่น้ำ และยังสามารถเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย

เคย พบชุกชุมในธรรมชาติ ปัจจุบันพบน้อยลงเพราะการจับมากเกินไปและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันกรมประมง โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาทสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จแล้ว โดยวิธีการผสมเทียม

++===========================++

  • 10.ปลาสายยู
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ceratoglanis pachynema อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) เป็นปลาไม่มีเกล็ด หัวเล็กมีสีแดงเรื่อ ๆ ปากเล็กอยู่ด้านล่าง มีหนวดสั้นเป็นติ่งขอใกล้จมูก คล้ายสายยูแม่กุญแจ อันเป็นที่มาของชื่อ ตาเล็กมาก ลำตัวแบนข้างมีสีชมพูหรือสีนวล ครีบมีขอบสีคล้ำ ครีบก้นยาวมาก มีลำตัวประมาณ 25 ซ.ม. พบใหญ่สุด 40 ซ.ม.


มี พฤติกรรมกระดิกหนวดอย่างรวดเร็วขณะว่ายน้ำ โดยภายในเวลา 1 นาที สามารถกระดิกหนวดได้ถึง 125 ครั้ง สันนิษฐานว่าเป็นการส่งสัญญาณหาอาหารตามท้องน้ำ โดยอาหารได้แก่ สัตว์หน้าดินต่าง ๆ กุ้ง แมลงน้ำ เป็นต้น


พบ เพียงที่เดียวในโลกเท่านั้น คือ บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันมีสถานะเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤตในธรรมชาติ (Endangered) แต่ก็เป็นที่เสาะแสวงหาของนักเลี้ยงปลาด้วย โดยเป็นปลาที่มีราคาสูงมาก มีชื่อเรียกอื่นว่า " เกด "

สายยูPangasius conchophilus ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae)



ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) ในวงศ์ปลาหวีเกศ (Schilbedae)
อนึ่ง ชื่อสายยู นี้เป็นชื่อที่เรียกซ้ำซ้อนกับปลาในหลายชนิด (Species) หลายสกุล (Genus) เช่น ปลาในสกุล (Pangasius) ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae) หรือปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) ในวงศ์ปลาหวีเกศ (Schilbedae) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น